โดย Expedia Team, 20 November 2017

รูดบัตรเครดิตต่างประเทศคิดเรทเงินเท่าไหร่

ประกาศๆ ใกล้สิ้นปีเข้าไปทุกทีแล้ว มนุษย์เงินเดือนหรือคนทำงานหลายคนน่าจะตื่นเต้น ตื่นตา ตื่นใจในพุทธศักราชใหม่ที่กำลังจะมาถึง คงเริ่มเสาะหาสถานที่ท่องเที่ยวในวันสิ้นปีหรือสถานที่เคาท์ดาวน์ในวันปีใหม่ แน่นอนว่าถ้าใครคิดพิสดารไม่จองโรมแรมหรือตั๋วเครื่องบินเอาไว้ คิดแค่ว่าไปหาเอาดาบหน้าก็แล้วกัน จงระวังเอาไว้เลยว่าอาจได้นอนตบยุงเกาขาแกรกๆ หน้าโรงแรมก็ได้ ถ้าใครมีเพื่อนเป็นสายเที่ยวบ่อยๆ ที่มีวันหยุดไม่ได้เลย เอะอะก็บินไปช้อปปิ้งที่เกาหลีบ้าง ญี่ปุ่นบ้าง หรือประเทศอะไรก็ตามที่ไปเที่ยวได้แบบไม่เกินวันหยุด

น่าจะได้ยินคำพูดที่เพื่อนมาเม้ามอยให้ฟังก่อนไปว่า “โอ๊ยแก ฉันยังไม่ได้แลกเงินเลย”
ตัวเองก็คงคิดในใจว่า “ทำไมไม่ใช้บัตรเครดิตจ่ายไปก่อนอะ” ซึ่งการใช้เงินสดนั้นไม่ต้องตามจ่ายทีหลัง แต่การรูดบัตรเครดิตต่างประเทศมันมีค่าธรรมเนียม!!!

แลกเงินสดก่อนไปเที่ยวต่างประเทศ

เช็คอัตราแลกเปลี่ยนให้ดี
ข้อแรกของการแลกเงินไม่ว่าจะสกุลอะไรก็ตามต้องรู้จักเช็กอัตราค่าแลกเปลี่ยนให้ดีก่อน เพื่อจะได้คำนวณว่าต้องการเงินสกุลนั้นเท่าไหร่ ต้องเตรียมเงินบาทไปเท่าไหร่ ซึ่งประเทศไทยมีร้านแลกเงินให้เลือกใช้บริการมากมาย เช่น

● SuperRich

● K79 Exchange

● Value Plus+

● Siam Exchange

แลกเงินสดแค่พอประมาณ

พกเงินสดบางทีก็กลัวหาย บางทีก็จุกจิกเกินไป แลกเงินไปพอเหมาะแค่พอซื้อของร้านน่ารักๆ ที่ไม่รับบัตรเครดิตนั่นแหละเหมาะสุด แต่ถ้าคิดจะใช้บัตรเครดิตเป็นส่วนใหญ่ต้องไม่ลืมว่าจะโดนคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มด้วย

บัตรเครดิต 02

รูดบัตรเครดิตต่างประเทศ คิดเรทเงินเท่าไหร่?

เพราะสกุลเงินที่ไม่เหมือนกันนี่แหละทำให้นักท่องเที่ยวต้องใชับัตรเครดิตรูดไปก่อนแล้วค่อยตามจ่ายบิลทีหลัง อาจเพราะไม่มีเวลาไปแลกเงินหรือด้วยสาเหตุอื่นๆ ซึ่งการรูดบัตรเครดิตที่ต่างประเทศนั้นมีค่าธรรมเนียม โดยอิงกับปัจจัย 2 ข้อ ดังนี้

1. ประเภทของบัตรเครดิตที่ถืออยู่

ในประเทศไทยจะเห็นได้ว่าบัตรเครดิตที่มีให้เห็นบ่อยๆ หรือคนนิยมใช้กันมักจะเป็น Visa, MasterCard, JBC หรือ UnionPay (ที่จะใช้ในประเทศจีนเป็นส่วนใหญ่) โดยบัตรเครดิตแต่ละค่ายจะมีเว็บไซต์สำหรับเช็คเรทเงินในแต่ละวัน เราสามารถมุ่งตรงไปที่เว็บไซต์ของบัตรเครดิตแต่ละเจ้าได้เลย ซึ่งวันที่จะโดนคิดเรทเงินหลังรูดบัตรเครดิตไปแล้วไม่ใช่วันที่รูดบัตรเครดิตหรือวันที่ทำรายการเสมอไป เพราะอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศจจะถูกคำนวณ ณ วันที่ร้านค้าส่งยอดเรียกเก็บ (ย้ำ! ไม่ใช่วันที่รูดซื้อสินค้า) ถ้าร้านค้าส่งยอดมาตรงกับวันหยุดในประเทศไทย วันธนาคารเปิดทำการยอดถึงจะถูกบันทึกนั่นเอง

2. ค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงินต่างประเทศ

เพราะการช้อปต่างประเทศหรือใช้บัตรเครดิตรูดไปก่อนไม่ใช่แค่ค่าสินค้าเท่านั้นที่เราจะต้องจ่าย เราเองก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นบัตรของ Citi Bank, KTC, ThanaChart ฯลฯ เพราะธนาคารเองก็ต้องลดความเสี่ยงของเงินที่ผันผวนขึ้นๆ ลงๆ เหมือนกัน โดย Exchange Rate ของแต่ละธนาคารส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่าง 2.0% – 2.5%

ค่า Exchange Rate ถูกชาร์จไม่เกิน 2.0%

1. บัตรเครดิตธนาคารกรุงไทย
2. บัตรเครดิตธนาคารกรุงศรีอยุธยา (เฟิร์สช้อยส์)
3. บัตรเครดิตธนาคารไอ ซี บี ซี

ค่า Exchange Rate ถูกชาร์จไม่เกิน 2.5%

1. บัตรเครดิตกรุงเทพ
2. บัตรเครดิตกสิกรไทย
3. ซิตี้ แบงก์
4. เซ็นทรัล เครดิตคาร์ด
5. บัตรเครดิตธนาคารทหารไทย
6. บัตรเครดิต เทสโก้ โลตัส
7. บัตรเครดิตธนาคารไทยพาณิชย์
8. บัตรเครดิตธนาคารธนชาต
9. บัตรเครดิตธนาคารแห่งประเทศจีน
10. บัตรเครดิตธนาคารกรุงศรีอยุธยา
11. บัตรเครดิตธนาคารยูโอบี
12. บัตรเครดิตธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด
13. บัตรเครดิตอเมริกัน เอ็กซ์เพรส
14. บัตรเครดิตอิออน

 

บัตรเครดิต 02

รูดบัตรเครดิตต่างประเทศจะเป็นเงินกี่บาท

ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่นักท่องเที่ยวที่มีหัวใจในการช้อปปิ้งมักจะพกเครื่องคิดเลขหรือคิดคำนวณทุกครั้งว่าเงินที่จ่ายไปในการซื้อแต่ละครั้งแปลงสกุลเป็นเงินไทยกี่บาท ซึ่งบัตรเครดิตเองก็มีค่าเปลี่ยนสกุลเงินเหมือนกัน ดังนั้น มาดูกันว่าใช้บัตรเครดิตจะคิดออกมาเป็นเงินบาทยังไงดี จำไว้ว่า

1.ไม่ว่าจะรูดบัตรเครดิตเป็นสกุลเงินใดก็ตาม ถ้าเกิดไม่ได้รูดเป็นสกุล US Dollar ต้องแปลงเป็นสกุล US Dollar ก่อน

2.การเปลี่ยนสกุลเป็น US Dollar ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามแบรนด์บัตรเครดิตที่เราใช้รูดไป โดยเช็คได้ในเว็บไซต์ของแต่ละแบรนด์ได้เลย

3.จำนวนเงินที่รูดไปต้องเอาไปคูณกับอัตราแลกเปลี่ยนจาก US Dollar เป็น Baht เพื่อให้ตัวเลขออกมาเป็นเงินบาท

4.ให้นำจำนวนที่ได้จากการแปลงไปคูณกับเปอร์เซ็นต์ค่าธรรมเนียมที่ถูกชาร์จไป (ตามที่ธนาคารกำหนดไว้)

5.ให้เอาเงินที่ได้จากการแปลงค่าเงินเป็นบาท (ข้อ 3) บวกกับค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน (ข้อ 4) เท่านี้ก็ได้จำนวนเงินทั้งหมดที่เราต้องจ่ายคืนให้ธนาคารแล้ว

ตัวอย่าง

1.นายกระต่ายใช้บัตรเครดิตซิตี้เพื่อรูดซื้อของในประเทศเกาหลีใต้เป็นจำนวนเงิน 29,900 KRW (วอน) ซึ่งนายกระต่ายต้องแปลงสกุลเงิน KRW ให้เป็น USD ก่อน สำหรับบัตรซิตี้คือบัตร VISA นายกระต่ายก็ต้องเข้าเว็บไซต์ VISA เพื่อแปลงสกุลเงิน

2.อัตราแลกเปลี่ยน 1 USD = 1,144 KRW ดังนั้น 29,900 KRW จะเท่ากับ 29,900 ÷ 1,144 KRW = 26.136 USD

3.อัตราแลกเปลี่ยน 1 USD = 34.02 THB ดังนั้น 26.136 USD = 26.136 x 34.02 = 889.146 THB

4.บัตรเครดิตซิตี้กำหนดค่าความเสี่ยงหรือเรทเงินอยู่ไม่เกิน 2.5% ดังนั้น นำ 889.146 x 2.5% = 22.228 บาท

5.นายกระต่ายใช้บัตรเครดิตซิตี้รูดซื้อของที่เกาหลีใต้เป็นจำนวนเงิน 29,900 วอน เมื่อคิดเป็นเงินไทยแล้ว นายกระต่ายต้องจ่ายเงินทั้งหมดรวมค่าธรรมเนียมเป็น 889.146 + 22.228 = 911.374 บาท (โดยประมาณ)

จริงๆ แล้วการพกเงินสดไปเที่ยวต่างประเทศหรือใช้บัตรเครดิตรูดต่างประเทศอยู่ที่ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวเอง ซึ่งบัตรเครดิตบางทีก็ต้องดูด้วยว่าถ้ารูดไปแล้วผ่านฉลุยเลยไหม หรือมีรหัสอะไรให้ใส่ลงไปหรือเปล่า ขอเปลี่ยนเป็นรูดแล้วเซ็นชื่อบนสลิปใบเสร็จได้ไหม

เรื่องพื้นฐานที่นักท่องเที่ยวน่าจะรู้กันดีก่อนเที่ยว – ช้อปปิ้ง คือ อย่าลืมว่าชีวิตมีความเสี่ยงสูงมาก ยิ่งไปต่างบ้านต่างเมืองก็ควรทำประกันท่องเที่ยวติดตัวเอาไว้ด้วย เงินเบี้ยประกันถูกมากแต่ได้ความคุ้มครองไปจนจบทริปเลยละ และใครที่กำลังวางแผนเดินทางเที่ยวก็ต้องรีบๆ จองโรงแรมกับตั๋วเครื่องบินได้แล้ว ช่วงปีใหม่ถือว่าเป็น Peak Season แย่งกันกินแย่งกันใช้ จองโรงแรม ตั๋วเครื่องบินผ่าน Expedia เอาไว้ก็ไม่เสียหายนะ


ขอบคุณข้อมูลจาก

rabbit finance-magazine

Rabbit Finance Magazine

Rabbit Finance Magazine เว็บไซต์ที่รวมรวบข่าวการเงิน และบทความที่น่าสนใจ ทั้งข่าวสารด้านการเงิน และความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกรรมประกันภัย เกร็ดความรู้ต่างๆ รวมถึงบทความไลฟ์สไตล์ที่น่าสนใจ ที่จะทำให้เรื่องการเงินไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจยากอีกต่อไป เลือกอ่านบทความดีๆ เลือก Rabbit Finance Magazine