โดย Expedia Team, 10 May 2016

เยือนปราสาทเมืองสิงห์ ศิลปะขอมแห่งกาญจนบุรี

กาญจนบุรีนอกจากจะโด่งดังด้านแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น ภูเขา น้ำตก และแม่น้ำแควแล้ว ก็ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งที่แปลกไปจากที่อื่นๆ ซึ่งยากจะพบในแถบนี้หรือในแถบจังหวัดภาคกลาง นั่นคือปราสาทเมืองสิงห์ ซึ่งมีลักษณะเป็นปราสาทหินที่ปกติจะพบบริเวณภาคอีสานที่อยู่ใกล้กับอาณาจักรขอมโบราณมากกว่า

ทำความรู้จักปราสาทเมืองสิงห์

เพื่อเพิ่มอรรถรสในการท่องเที่ยว เรามาทำความรู้จักกับความเป็นมาของปราสาทกันก่อน เพื่อจะได้เข้าถึงความงามของอุทยานประวัติศาสตร์แห่งนี้มากขึ้น

ปราสาทเมืองสิงห์

รูปภาพ: ภาดา กาญจนภิญพงศ์/CC BY-SA 3.0

นักโบราณคดีเชื่อว่า ปราสาทนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานของศาสนาพุทธ นิกายมหายาน โดยสถาปัตยกรรมและปฏิมากรรมมีความคล้ายคลึงกับสถาปัตยกรรมปราสาทหินในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1720 – พ.ศ. 1780) กษัตริย์นักสร้างปราสาทแห่งขอม ส่วนความเป็นมานั้นอ้างอิงมาจากศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ เมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา ซึ่งจารึกโดยพระวีรกุมาร พระราชโอรสของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่มีการจารึกชื่อเมือง 23 เมืองที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสร้างไว้ โดยมีชื่อของเมืองศรีชัยสิงห์บุรีซึ่งสันนิษฐานกันว่าคือเมืองที่มีปราสาทเมืองสิงห์ตั้งอยู่ และนอกจากนี้ยังมีชื่อของเมืองละโวธยปุระหรือเมืองละโว้หรือลพบุรีในปัจจุบันที่มีปราสาทหินคล้ายคลึงกันตั้งอยู่ด้วย

แม้ตัวปราสาทเองจะไม่ยิ่งใหญ่เท่านครวัด และมีรูปทรงทางสถาปัตยกรรมที่แตกต่างจากหลักการสร้างปราสาทดั้งเดิมในอาณาจักรขอมโบราณ แต่ด้วยความเก่าแก่และเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ กรมศิลปากรจึงขึ้นทะเบียนปราสาทเมืองสิงห์เป็นโบราณสถานแห่งชาติตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 ก่อนจะบูรณะซ่อมแซมจนสามารถเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการได้ในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2530

หลังการขุดแต่ง กรมศิลปากรยังบูรณะปฏิมากรรมสำคัญๆ อย่างพระพุทธรูปนาคปรก พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร รูปปั้นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี และรูปปั้นนางปรัชญาปารมิตา พระชายาผู้ทรงความรู้ของพระโพธิสัตว์ตามความเชื่อของศาสนาพุทธด้วย โดยแต่ละชิ้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับที่พบในประเทศกัมพูชา หลังจากที่ขุดแต่งแล้ว กรมศิลปากรจึงนำองค์จริงไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร​ แต่นำองค์จำลองมาตั้งไว้เพื่อให้คงความสวยงามครบถ้วนเหมือนเดิม

เตรียมพร้อมก่อนเดินทาง

ตัวปราสาทตั้งอยู่กลางแจ้ง ดังนั้นนักเที่ยวอย่างเราๆ ควรเตรียมตัวให้ดีก่อนออกเดินชม เพราะแม้สถานที่จะไม่ใหญ่โตมาก แต่ถ้าจะเดินให้ครบก็ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง ฉะนั้นสิ่งที่ต้องเตรียมก็ควรจะมี

  • ร่มหรือหมวกเพื่อกันความร้อนจากแสงแดด (แดดเมืองกาญจน์โหดไม่เบาเลย)
  • น้ำเย็นๆ ถือติดมือไปสักขวด
  • แผนผังปราสาทเพื่อวางแผนเส้นทางการเดิน

เดินให้ทั่ว

ตัวอุทยานมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กำแพงสูง 7 เมตร ยาว 850 เมตร และกว้าง 800 เมตร มีประตูเข้าออก 4 ด้าน สระน้ำ 6 สระ  และมีจุดให้เข้าชมโบราณสถานอยู่ 5 จุด ได้แก่

โบราณสถานหมายเลข 1

ปราสาทเมืองสิงห์ 02

รูปภาพ: yeowatzup/CC BY 2.0

เป็นส่วนของปราสาทที่มีความสมบูรณ์ที่สุด ทางเดินเข้ามาถึงตัวปราสาทที่ก่อด้วยศิลาแลงนั้นเรียงรายไปด้วยต้นลีลาวดีที่เวลาออกดอกจะส่งกลิ่นหอมตลอดทางเดิน ตัวปราสาทมีปรางค์ประธานเป็นศูนย์กลาง ภายในประดิษฐานพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี มีพระกร 8 กร ถัดไปทางบริเวณซุ้มประตูโคปุระด้านหลังของปรางค์ประธานมีรูปเคารพพระนางปรัชญาปารมิตา นอกจากนี้บริเวณใกล้ๆ ปรางค์ประธานยังมีอาคารเล็กๆ ที่เรียกว่า “บรรณาลัย” ซึ่งเป็นที่เก็บคัมภีร์ของพุทธศาสนาในสมัยนั้นด้วย

โบราณสถานหมายเลข 2

Mueang_Sing_monument_2

รูปภาพ: Ahoerstemeier/CC-BY-SA-3.0

ตั้งอยู่ไม่ไกลจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหมายเลข 1 ก่อด้วยศิลาแลง ประดับด้วยลวดลายปูนปั้น ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ภายในมีปรางค์ประธาน 1 องค์ มีโคปุระ 4 ทิศ เชื่อมต่อด้วยระเบียงคด และแท่นฐานปฏิมากรรมที่วางเรียงอยู่ในแนวของระเบียงคด

โบราณสถานหมายเลข 3

ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของหมายเลข 1 ด้านนอกกำแพงแก้ว มีฐานขนาดเล็ก มุมทั้ง 4 ของโบราณสถานนี้มีแผ่นหินปักไว้ คล้ายกับจะเป็นใบเสมา เชื่อว่าส่วนนี้เป็นฐานของเจดีย์ 2 องค์

โบราณสถานหมายเลข 4

อยู่ทางทิศตะวันตกของหมายเลข 1 เป็นอาคารฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งเรียงกัน 4 ห้องเรียงเป็นแถวแนวเหนือใต้ ใช้ศิลาแลงก่อสร้างเช่นกัน

อาคารนิทรรศการ

Statue

รูปภาพ: yeowatzup/CC BY 2.0

เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อจัดแสดงศิลปะวัตถุที่ค้นพบในปราสาท โดยส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปแกะสลักแบบขอม

หลุมขุดค้นทางโบราณคดี

ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ โดยเชื่อว่าเป็นชุมชนที่ตั้งขึ้นก่อนที่จะสร้างเมืองสิงห์ เพราะขุดพบเครื่องมือเครื่องใช้ ภาชนะสำริด ดินเผา เครื่องมือเหล็ก สร้อยคอทำด้วยลูกปัด และโครงกระดูกที่มีอายุมากกว่า 2,000 ปี


รายละเอียดการเข้าชม

– ค่าเข้าชมสำหรับชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท

– ค่าธรรมเนียมรถโดยสารสำหรับรถยนต์คันละ 50 บาท จักรยานยนต์คันละ 20 บาท และจักรยานคันละ 10 บาท

– เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 8:00-16:30 น. ติดต่อสอบถามได้ที่ โทร 034-528-456-7


การเดินทาง

จากตัวเมืองกาญจนบุรี ใช้ทางหลวง 323 หรือถนนแสงชูโต ออกจากตัวเมืองมาราว 45 กิโลเมตร ก่อนเลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข 3455 ตรงไปจนถึงสามแยก เลี้ยวซ้ายไปอีก 50 เมตร ก็จะถึงทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์อยู่ทางขวามือ

Road sign

รูปภาพ: yeowatzup/CC BY 2.0

พักที่นี่

หากชอบแนวโรแมนติกหน่อย แนะนำให้นอนแพที่เดอะ โฟลท์เฮาส์ ริเวอร์ แคว ซึ่งมองเห็นวิวแม่น้ำและภูเขาสวยงาม คุณจะได้สัมผัสสายน้ำเย็นฉ่ำได้จากหน้าห้องพักเลยทีเดียว หรือถ้าอยากชมวิวแบบเต็มอิ่มก็ต้องเลือกที่พักอย่าง ครอสทู​ ริเวอร์แคว ที่พักโมเดิร์นซึ่งแต่ละห้องมองเห็นวิวแม่น้ำแควได้อย่างเต็มตา

ดูราคาเดอะ โฟลทเฮ้าส์ ริเวอร์แคว
ดูราคาครอสทู​ ริเวอร์แคว